คาราคัล
ประวัติ
คาดว่าขนหูที่ยาวนี้ใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร หลังหูสีดำ ข้างปากมีจุดสีเข้ม เหนือตาสีดำ มีเส้นสีดำพาดจากตามาถึงจมูก ขนตามลำตัวสั้นเกรียนและแน่น สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีแดงอิฐ ขนบริเวณใต้ท้องยาวและซีดกว่าบริเวณอื่น
ลักษณะทั่วไป
คำว่า "คาราคัล" มาจากคำว่า "karakulak" ในภาษาตุรกี แปลว่า หูดำ ซึ่งเป็นจุดเด่นของแมวชนิดนี้ นอกจากดำแล้วหูยังใหญ่เรียว และมีขนปลายหูยาวชี้ออกไปถึงสองนิ้วอันเป็นลักษณะเด่นที่สุดของแมวชนิดนี้ คาดว่าขนหูที่ยาวนี้ใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร หลังหูสีดำ ข้างปากมีจุดสีเข้ม เหนือตาสีดำ มีเส้นสีดำพาดจากตามาถึงจมูก ขนตามลำตัวสั้นเกรียนและแน่น สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีแดงอิฐ ขนบริเวณใต้ท้องยาวและซีดกว่าบริเวณอื่น ตาโต สีเหลืองน้ำตาล ลำตัวยาว 60-95 เซนติเมตร หางยาวราวหนึ่งในสามของความยาวลำตัว รอบตาขาว คางขาว ตัวผู้น้ำหนัก 10-18 กิโลกรัม ตัวเมียหนักได้ถึง 16 กิโลกรัม (เฉลี่ย 10 กิโลกรัม) เป็นแมวที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา
คาราคัลมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษอีกชื่อว่า desert lynx แปลว่า ลิงซ์ทะเลทราย แต่รูปร่างไม่เหมือนลิงซ์เลย คาราคัลมีขายาว ลำตัวเพรียว หางยาวกว่าลิงซ์และปลายเรียว ขนแก้มของคาราคัลก็ไม่ยาวอย่างลิงซ์ สิ่งที่คล้ายกันอาจมีเพียงอย่างเดียวคือขนปลายหูที่ยาวเท่านั้น
มีรายงานพบคาราคัลดำบ้างเหมือนกันแต่มีไม่มาก
ถิ่นที่อยู่อาศัย
คาราคัลอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง อดทนต่อสภาพที่อยู่อาศัยหลายประเภท พบในป่าวูดแลนด์ ซะวันนา และป่าละเมาะอะคาเซียทั่ว ทวีปแอฟริกา พบได้บ่อยในป่าที่ชุ่มชื่นใกล้ชายฝั่งเหนือทะเลทรายซาฮารา และยังพบในทะเลทรายของอินเดียด้วย แต่ไม่พบในป่าฝนเขต ร้อน อยู่ได้สูงถึง 3,000 เมตร
ในแอฟริกาใต้ คาราคัลอยู่ในป่าดิบและป่าบนเขาสูงทางใต้ของจังหวัดเคป ในเอธิโอเปีย คาราคัลพบได้สูงถึง 2,500 เมตร ในเทือกเขาเบลีและไซเมียน
อุปนิสัย
คาราคัลอดน้ำได้เก่ง เพียงน้ำจากตัวเหยื่อก็ดำรงชีวิตได้แล้ว ตอนกลางวันอันร้อนระอุจะพักอยู่ตามหลืบหิน หากินเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็นที่อากาศเย็น
การล่าของคาราคัลจะใช้วิธีย่องเข้าหาและพุ่งตะครุบเช่นเดียวกับแมวบ้าน ตัวผู้มีอาณาเขตหากินซ้อนทับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว หากินโดยลำพัง จะหากินด้วยกันก็ต่อเมื่อต้องการผสมพันธุ์เท่านั้น
ในประเทศแอฟริกาใต้แมวคาราคัลตัวผู้มีอาณาเขต 31-65 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่เพียง 4-31 ตารางกิโลเมตร คาราคัลตัวผู้เดินทางเฉลี่ยวันละ 10.4 +5.2 กิโลเมตร ส่วนตัวเมียเดินทางเฉลี่ยวันละ 6.6+4.1 กิโลเมตร เคยมีการแกะรอยคาราคัลตัวหนึ่งในทะเลทรายคารากัมในเติร์กเมนิสถานพบว่ามันเดินทางในเวลากลางคืนเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร
คาราคัลกินสัตว์ฟันแทะเป็นอาหารหลัก เช่น เจอร์บัว หนูทราย กระรอกดิน นอกจากนี้ยังกิน นก ร็อกไฮแรก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน งูพิษ และแอนติโลปขนาดเล็กอย่างรีดบัก ดุยเกอร์ สปริงบอก กูดู
คาราคัลที่อยู่ในทะเลทรายของเติร์กเมนิสถาน กินกระต่ายป่าโทไลเป็นอาหารหลัก บางครั้งก็จับสัตว์ใหญ่ได้เหมือนกัน เช่นกาเซลล์กอยเตอร์ ในอาหรับก็เคยพบคาราคัลฆ่าตัวโอริกซ์ และยังเคยพบรอยคาราคัลติดตามตัวกาเซลล์ดอร์คัสในแอลจีเรีย โดยเฉพาะคาราคัลในตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบชาด ขึ้นชื่อในเรื่องการจับกาเซลล์กอยเตอร์ จึงมีชื่อเรียกในภาษาตูบูที่มีความหมายว่าแมวกาเซลล์ ในปากีสถานก็เคยมีคนเห็นคาราคัลย่องตามฝูงแกะป่ามูฟลอนตอนกลางวัน
บางครั้งคาราคัลก็กินซากด้วยแม้ไม่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิโตชาในนามิเบีย คาราคัลตัวเมียตัวหนึ่งรอให้เสือชีตาห์กินเหยื่อจนเสร็จจนจากไปแล้วค่อยไปกินซากที่เหลือ บางครั้งก็กินหญ้าและผลไม้ คาดว่าคาราคัลกินหญ้าและผลไม้เพื่อต้องการน้ำจากภายในเท่านั้น เมื่อจับเหยื่อได้จะลากไปในที่ลับตาเพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์อื่นมารบกวน ถ้าเหยื่อตัวใหญ่กินคราวเดียวไม่หมด ก็จะคลุมเหยื่อด้วยหญ้าเพื่อกลับมากินคราวหลัง บางครั้งคาราคัลก็ลากเหยื่อขึ้นไปกินบนต้นไม้แบบเดียวกับเสือดาว ในการกินนก หากเป็นนกตัวใหญ่คาราคัลจะถอนขนก่อนกิน แต่ถ้าเป็นนกตัวเล็กจะกลืนเข้าไปทั้งตัว